ความเป็นมา

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยใน
ปี พ.ศ. 2561 รายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลกมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 4.4 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 3.6 ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2561 รายได้จากการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทุกปี นอกจากนี้ ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 3.8 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 1.4 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2561 เป็น
1.5 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศมียอดการใช้จ่ายในปี พ.ศ. 2562 รวมกันสูงถึง
1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 53.8 ล้านล้านบาท โดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อการพักผ่อนมีความนิยมเดินทางโดยเรือสำราญเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ (Cruise Industry) จึงมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรูปแบบอื่นในตลาดการเดินทางเพื่อการพักผ่อน (Leisure Travel Market) โดยระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.3 ต่อปี ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญทั้งหมดประมาณ 30 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2562 ภูมิภาคที่มีจำนวนเรือสำราญสูงสุด ได้แก่ แถบทะเลแคริบเบียนและแถบทะเล
เมดิเตอร์เรเนียน ที่มีสัดส่วนจำนวนเรือสำราญสูงถึงร้อยละ 32 และร้อยละ 17 ของจำนวนเรือสำราญทั้งหมดทั่วโลก
ในขณะที่ ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) มีสัดส่วนจำนวนเรือสำราญเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนเรือสำราญทั้งหมดเท่านั้น อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเอเชียมีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2562 สูงถึงร้อยละ 16 ต่อปี และอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562 สูงถึงร้อยละ 14 ต่อปี

ในขณะที่อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าเพียงร้อยละ 40 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงถึงร้อยละ 87.7 โดยระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562 ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 550 ครั้ง แบ่งเป็นการเทียบท่าเพื่อแวะพักระยะสั้น (Transit) 427 ครั้ง การเทียบท่าเพื่อเป็นจุดต้นทางหรือจุดปลายทาง (Turnaround) 43 ครั้ง และการเทียบท่าข้ามคืน (Overnight) 80 ครั้ง และเป็นประเทศที่มีจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงเป็นลำดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย
รองจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย ที่มีจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าทั้งหมด 2,681 ครั้ง 809 ครั้ง และ 561 ครั้ง ตามลำดับ โดยท่าเรือที่มีจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่ามากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่
ท่าเทียบเรือป่าตอง ท่าเทียบเรือแหลมฉบังและท่าเทียบเรือคลองเตย ท่าเทียบเรือเกาะสมุย และท่าเทียบเรือพังงา

ในปี พ.ศ. 2561 กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณ แหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่เป็น
การเฉพาะ เรือสำราญขนาดใหญ่ที่ต้องการเทียบท่าที่เกาะสมุยจึงต้องทอดสมอกลางทะเล และขนส่งนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งด้วยเรือเล็ก ในการนี้ กรมเจ้าท่าจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่อำเภอเกาะสมุย ซึ่งจะช่วยดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในอำเภอเกาะสมุยและพื้นที่ใกล้เคียง
และได้ว่าจ้างบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

กรมเจ้าท่าได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งภาครัฐมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรในการดำเนินโครงการ ดังนั้นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึงถูกนำมาใช้เพื่อจัดทำโครงการซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐมอบหมายให้เอกชนดำเนินการแทนผ่านสัญญาร่วมลงทุน